โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลข้อมูล Multi-GNSS เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
Multi-GNSS คือการหลอมรวมการใช้งานระบบ GNSS (Global Navigation Satellite Systems) หลาย ๆ ระบบเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มจำนวนดาวเทียมที่สามารถใช้ในการคำนวณค่าพิกัดตำแหน่ง ในการนี้มีหลายประเทศที่ได้ดำเนินการพัฒนาระบบดาวเทียม GNSS ของตนเอง เช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน ยุโรป ญี่ปุ่นและอินเดีย โดยทุกระบบดังกล่าวได้เผยแพร่สัญญาณให้กับสาธารณะชนทั่วโลกได้ใช้งานโดยไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่โครงการ Multi-GNSS Asia ได้มีการประเมินว่าภูมิภาค Asia and Oceania เป็นพื้นที่ที่จะมีจำนวนดาวเทียม GNSS มากที่สุดของโลกโดยคาดการณ์ว่าจะมีสูงถึง 35 ดวงอยู่บนน่านฟ้าของภูมิภาคภายในปี 2020
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำร่องการใช้งานพิกัดความละเอียดและความถูกต้องสูงจาก Multi-GNSS ในประเทศไทย โดยประกอบด้วยสองกิจกรรมหลัก คือ (1) การร่วมพัฒนาเครือข่ายสถานีติดตามดาวเทียม Multi-GNSS ในประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศไทย และ (2) การทดลองนำ Multi-GNSS มาใช้ติดตามตำแหน่งของรถอย่างละเอียดเพื่อประยุกต์ใช้ในการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนน เช่น การติดตามพฤติกรรมการขับรถ การวิเคราะห์ความปลอดภัยของกายภาพถนน การวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
Hard Infrastructure เช่น โครงข่ายสถานีและเสาสัญญาณในการถ่ายทอดสัญญาณค่าแก้ในการคำนวนพิกัดความถูกต้องสูง Soft Infrastructure เช่น มาตรฐานการเก็บ การแลกเปลี่ยน และการประมวลผลข้อมูล, Algorithm ในการวิเคราะห์ลักษณะของถนนที่ไม่ปลอดภัย Service Infrastructure เช่น บริการค่าปรับแก้สามารถคำนวนพิกัดความถูกต้องสูง บริการวิเคราะห์ข้อมูลถนนที่ไม่ปลอดภัย
โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ข้อมูล Multi-GNSS ดังนั้นโครงการจึงมีเป้าหมายหลักดังนี้
4.1 ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการพัฒนาโครงสร้างพืนฐานและส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมและใช้งานข้อมูลพิกัดตำแหน่งความถีและความถูกต้องสูงจาก Multi-GNSS
4.2 เพื่อพัฒนาแนวทางการได้มาและใช้ข้อมูล Multi-GNSS ที่ความถี่และความถูกต้องระดับต่าง ๆ
4.3 เพื่อพัฒนาแนวทางในการจัดเก็บ ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล Multi-GNSS
4.4 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงความสามารถและผลกระทบของเทคโนโลยี Multi-GNSS ต่ออุตสาหกรรม location and tracking
4.5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดและนำผลงานไปใช้ในภาคสังคมและอุตสาหกรรม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมิได้เป็นผู้พัฒนาระบบดาวเทียม GNSS ด้วยตัวเองโดยตรง แต่การใช้งาน GPS (ระบบ GNSS ระบบแรกของโลก) ก็มีอยู่แล้วมายาวนานในหลายอุตสาหกรรม เช่น การสำรวจรังวัด การทำแผนที่ และการติดตามยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม การตระหนักถึงการใช้งาน GNSS หลาย ๆ ระบบร่วมกัน ตลอดจนการพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพื่อให้การคำนวณค่าพิกัดจาก GNSS สามารถทำได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลงเป็นสิ่งจำเป็นและควรได้รับการส่งเสริม แนวคิดนี้สามารถยืนยันได้ด้วยกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในเวทีโลก ดังจะเห็นได้จากการที่องค์การสหประชาชาติ ได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะเกี่ยวกับ GNSS ชื่อว่า International Committee on GNSS (ICG) ขึ้นตั้งแต่ปี 2005 โดยมีการดำเนินกิจกรรมและความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จุดประสงค์ในการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวคือเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้าน GNSS ภายในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการใช้งาน GNSS ให้แพร่หลายและได้ประโยชน์สูงสุด